1632201 การวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหาสารสนเทศ 1

Responsive image

1632201 การวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหาสารสนเทศ 1

อาจารย์ผู้สอน

คำอธิบายรายวิชา
แนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหาสารสนเทศ หลักการวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหาเพื่อการจัดระบบและการเข้าถึงสารสนเทศ การกำหนดเลขเรียกหนังสือและหัวเรื่อง การจัดระบบเน้นการจัดหมู่ตามระบบทศนิยมของดิวอี้

จำนวนการเข้าชม
6911 ครั้ง
ผู้เข้าชมภายนอก
112 ครั้ง
คะแนนรายวิชา
คะแนน: 5.00 จากทั้งหมด 10 คะแนน

สัปดาห์ที่ 1 บทที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการจัดหมู่

1. ให้นักศึกษา ทบทวนความรู้เดิมเกี่ยวกับ การสืบค้นในห้องสมุด ก่อนเริ่มต้นเรียน 2. ศึกษาแนวการสอนรายวิชา 1632201 ให้เข้าใจ
วิดีโอการสอน


สัปดาห์ที่ 2 บทที่ 2 การจัดหมู่หนังสือระบบต่าง ๆ

ระบบการจัดหมู่หนังสือ (classification systems) เป็นระบบที่มีผู้คิดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดเลขหมู่หนังสือ โดยกำหนดสัญลักษณ์แทนประเภทเนื้อหาวิชา ประกอบด้วยความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ทุกสาขา หรือเฉพาะสาขาวิชา ตามวัตถุประสงค์ของระบบนั้น มีการแบ่งหมวดใหญ่และหมู่ย่อยลงไปตามลำดับ ระบบการจัดหมู่ต่าง ๆ ที่นำมาให้ศึกษานั้นล้วนอาศัยแนวคิดของระบบการจัดหมู่ที่เกิดขึ้นก่อนทั้งสิ้น บางระบบไม่มีห้องสมุดใดนำไปใช้ในปัจจุบัน บางระบบเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย บางระบบเน้นการจัดหมู่เฉพาะสาขาวิชา เช่น ระบบกริดเดน ระบบหอสมุดแพทย์แห่งชาติอเมริกัน เป็นต้น มีหลายระบบที่เผยแพร่แนวคิดและหลักการจัดหมู่ของระบบทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นทางเผยแพร่ข้อมูลที่กว้างขวางและรวดเร็วมากในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้สนใจระบบการจัดหมู่สามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้โดยง่าย ซึ่งจะทำให้ทราบข่าวสารข้อมูลการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการใหม่ ๆ ของระบบนั้น ๆ ได้ในเวลาที่รวดเร็ว
วิดีโอการสอน


สัปดาห์ที่ 3 บทที่ 9 เลขเรียกหนังสือ

เลขเรียกหนังสือ เป็นสัญลักษณ์ที่บรรณารักษ์กำหนดขึ้นสำหรับหนังสือแต่ละเล่มของห้องสมุด เพื่อแสดงหมวดหมู่และตำแหน่งที่เก็บของหนังสืออย่างมีระบบ ทั้งนี้โดยมุ่งให้เกิดความสะดวกรวดเร็วต่อการค้นหาและการเก็บเข้าที่ได้ถูกต้อง เลขเรียกหนังสือมีส่วนประกอบหลายส่วน แต่ที่สำคัญคือเลขหมู่และเลขหนังสือ เลขหนังสือประกอบด้วยอักษรตัวแรกของรายการหลักในรายการสืบค้น ซึ่งอาจเป็นชื่อผู้แต่ง หรือชื่อหนังสือก็ได้ ตามด้วยเลขแสดงลำดับซึ่งได้มาจากคู่มือที่ผู้จัดหมู่เลือกใช้ เช่น ตารางเลขผู้แต่งหนังสือภาษาไทยสำเร็จรูปของหอสมุดแห่งชาติ ถ้าเป็นหนังสือภาษาไทย และถ้าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษก็อาจเป็นตารางเลขผู้แต่งของคัตเตอร์-แซนบอร์น และท้ายสุดคืออักษรตัวแรกของชื่อเรื่อง
วิดีโอการสอน

ดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร

         ไฟล์นำเสนอ .pdf : เลขเรียกหนังสือ


สัปดาห์ที่ 4-7 หัวเรื่องและการกำหนดหัวเรื่อง

การกำหนดหัวเรื่องให้ทรัพยากรสารสนเทศ เป็นวิธีการจัดเก็บและควบคุมสารสนเทศอีกวิธีหนึ่งที่จะให้ความสะดวกในการค้นหาทรัพยากรสารสนเทศและข้อมูลทางบรรณานุกรมได้ตามความต้องการ ปกติจะทำควบคู่ไปกับการจัดหมวดหมู่หนังสือ เพื่อกำหนดที่อยู่ของหนังสือ และสามารถค้นเนื้อหาของสารสนเทศที่มีอยู่ในรายการสืบค้น การนำคอมพิวเตอร์มาใช้จัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศ ทำให้สืบค้นและเรียกใช้สารสนเทศได้โดยตรงจากฐานข้อมูล การใช้หัวเรื่องวิเคราะห์สารสนเทศจึงสะดวกต่อการจัดเก็บและค้นหาด้วยคอมพิวเตอร์ การกำหนดหัวเรื่องเป็นงานสำคัญสำหรับบรรณารักษ์ผู้จัดทำรายการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่าง ๆ ของห้องสมุด หัวเรื่องใช้แทนเนื้อหาของทรัพยากรสารสนเทศ ผู้กำหนดหัวเรื่องจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะ ประเภท และวิธีใช้ทั้งหัวเรื่องใหญ่และหัวเรื่องย่อย ต้องคำนึงถึงผู้ใช้ ลักษณะคำที่นำมาใช้เป็นหัวเรื่อง ตลอดจนภาษาที่ใช้ ศึกษาขั้นตอนการกำหนดหัวเรื่อง นอกจากนี้หากคู่มือการกำหนดหัวเรื่องที่ใช้อยู่ไม่มีหัวเรื่องให้นำมาใช้แทนเนื้อหาของทรัพยากรสารสนเทศ ต้องทราบหลักเกณฑ์การกำหนดหัวเรื่องเพิ่มเติมได้เองเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
วิดีโอการสอน


สัปดาห์ที่ 9 บทที่ 3 ความรู้เบื้องต้นระบบทศนิยมของดิวอี้

ระบบทศนิยมของดิวอี้ มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น ระบบทศนิยม (Decimal system) ระบบดิวอี้ (Dewey system) ระบบดีดีซี (Dewey Decimal Classification-DDC) และระบบดีซี (Decimal Classification - DC) เป็นระบบการจัดหมู่ที่เก่าแก่ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากที่สุดระบบหนึ่ง โดยมีการนำไปใช้ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 135 ประเทศ สำหรับในสหรัฐอเมริกามีห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดโรงเรียนนำไปใช้ถึงร้อยละ 95 ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยใช้ร้อยละ 25 และห้องสมุดเฉพาะนำไปใช้ร้อยละ 20 (Dewey, 2003, vol. 1, p. xxxi)
วิดีโอการสอน


สัปดาห์ที่ 10 บทที่ 4 ตารางเลขหมู่ระบบทศนิยมของดิวอี้

ตารางเลขหมู่ของระบบทศนิยมของดิวอี้เป็นตารางการจัดลำดับวิทยาการความรู้ทั้งหมดของมนุษย์จากเนื้อเรื่องกว้าง ๆ ไปจนถึงเนื้อเรื่องที่เฉพาะเจาะจง โดยใช้เลขอารบิกเป็นสัญลักษณ์ มีรายละเอียดของวิชาความรู้สาขาต่าง ๆ รวม 23,000 รายการ แผนการจัดหมู่ระบบทศนิยมของดิวอี้ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 23 แบ่งเนื้อหาของตารางเลขหมู่เป็น 2 เล่ม เลขหมู่ที่ได้จากตารางเลขหมู่ อาจเป็นเลขหมู่ที่สมบูรณ์สามารถใช้แทนเนื้อหาของเอกสารได้ทันที หรือใช้เป็นเลขฐานนำไปประกอบกับเลขหมู่อื่น หรือใช้ประกอบกับเลขจากตารางช่วยก็ได้ เลขหมู่แต่ละเลขประกอบด้วยเลขอย่างน้อย 3 หลักและอาจมีเลขทศนิยมตามหลังได้อีกไม่รู้จบ ดังนั้นเราจึงสามารถสร้างเลขหมู่เพื่อกำหนดเนื้อหาของหนังสือได้จำนวนมาก แต่ก่อนที่จะใช้ระบบทศนิยมของดิวอี้ ผู้จัดหมู่ควรต้องทำความเข้าใจกับโครงสร้างของตารางเลขหมู่ เพื่อทราบขอบเขตของวิทยาการต่าง ๆ อย่างคร่าว ๆ ทำความเข้าใจกับลักษณะโดยทั่วไปของระบบทศนิยมของดิวรวมถึง ตารางสรุปต่าง ๆ ตารางนำ ตารางช่วยภายใน ตลอดจนคำแนะนำ เครื่องหมายและคำอธิบายต่าง ๆ และศึกษาวิธีใช้ตารางเลขหมู่ เพื่อที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถจัดหมวดหมู่ได้อย่างมั่นใจและถูกต้อง
วิดีโอการสอน


สัปดาห์ที่ 11 บทที่ 5 ดรรชนีสัมพันธ์

เมลวิล ดิวอี้ ถือว่าดรรชนีสัมพันธ์ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของระบบทศนิยมของดิวอี้ เนื่องจากดรรชนีสัมพันธ์เป็นเครื่องมือสืบค้นที่จะนำไปสู่เลขหมู่ที่ต้องการ และเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้เริ่มศึกษาระบบทศนิยมของดิวอี้อีกด้วย แม้ผู้จัดหมู่สามารถหาเลขหมู่จากตารางเลขหมู่ได้โดยตรง ก็ควรพิจารณาเลขหมู่เรื่องต่าง ๆ จากดรรชนีสัมพันธ์เป็นลำดับแรก เพราะผู้จัดหมู่จะได้ทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกด้วย บางครั้งในการจัดหมู่หนังสือจะพบเนื้อหาบางเรื่องที่ยากต่อการตัดสินใจในการกำหนดเลขหมู่ ระบบทศนิยมของดิวอี้จึงได้จัดทำคู่มือไว้เป็นเครื่องมือช่วยผู้จัดหมู่ในการตัดสินใจเลือกกำหนดเลขหมู่สำหรับเนื้อหาที่ยากและเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างสาขาวิชาอีกด้วย
วิดีโอการสอน

ดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร

         ไฟล์นำเสนอ .pdf : ดรรชนีสัมพันธ์ PDF


สัปดาห์ที่ 12-14 บทที่ 6 ตารางช่วยระบบทศนิยมของดิวอี้

การกำหนดเลขหมู่ของหนังสือจะพิจารณาจากเนื้อหาของหนังสือเป็นหลัก ถ้าหนังสือเล่มใดมีเนื้อหาซับซ้อนคือมีหลายเรื่องอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน หรือนำเสนอเนื้อหาในลักษณะพิเศษ เช่น หนังสือเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเกษตร ประวัติศาสตร์ศิลปะ สารานุกรมดนตรี เป็นต้น ระบบทศนิยมของดิวอี้ได้ใช้วิธีการสังเคราะห์เลขหมู่เพื่อความสะดวกในการจัดหมู่ โดยนำเอาส่วนประกอบต่าง ๆ ของระบบการจัดหมู่มารวมกันและนำไปใช้แทนหัวเรื่องหรือเนื้อหาที่ซับซ้อน รายการต่าง ๆ ที่นำมารวมกันนี้เรียกว่าเครื่องมือสังเคราะห์ (synthetic device) เช่น การรวมกลุ่มเรื่องทั่ว ๆ ไปของเลขหมู่ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหัวเรื่องรองในทุกสาขาวิชา โดยกำหนดสัญลักษณ์พิเศษเป็นเลขจำนวนหนึ่งที่ใช้เติมเข้ากับเลขหมู่ต่าง ๆ เพื่อแสดงลักษณะเนื้อหาของหนังสือว่ามีเนื้อหามากกว่า 1 เรื่อง เครื่องมือสังเคราะห์ที่ดิวอี้สร้างขึ้นนี้เรียกว่า ตารางช่วย ตารางช่วย (Auxiliary Tables) คือ เครื่องมือสังเคราะห์ที่ดิวอี้สร้างขึ้นแยกต่างหากจากตารางเลขหมู่ เพื่อใช้กำหนดเลขหมู่ของหนังสือที่มีเนื้อหาซับซ้อน คือ มีหลายเรื่องอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน หรือนำเสนอเนื้อหาในลักษณะพิเศษ ตัวอย่างเช่น เป็นหนังสือพจนานุกรม แบบฝึกหัด สารานุกรม บรรณานุกรม เป็นต้น ตารางช่วยใช้ในการแบ่งเนื้อหาอย่างละเอียด หรือ เพื่อเน้นเนื้อหาให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ตารางช่วยของระบบทศนิยมของดิวอี้เดิมมีทั้งหมด 7 ตาราง ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 22 ลดเหลือ 6 ตาราง โดยตัดตารางช่วยที่ 7 ออก ให้ใช้เลขโดยตรงจากตารางเลขหมู่ และเลข –08 จากตารางช่วยที่ 1 แทน
วิดีโอการสอน


สัปดาห์ที่ 15-16 บทที่ 7-8 การสร้างเลขหมู่หมวด 000-900

การสร้างเลขหมู่หนังสือด้วยระบบทศนิยมของดิวอี้สำหรับหนังสือสาขาวิชาใดก็ตาม ในขั้นแรกจะต้องวิเคราะห์เนื้อหาของหนังสือเพื่อให้ทราบเรื่องที่เฉพาะเจาะจง แนวการเขียนและลักษณะพิเศษอื่น ๆ ที่อาจรวมอยู่ด้วย จากนั้นนำผลการวิเคราะห์มาพิจารณาว่าเรื่องนั้นอยู่ในสาขาวิชาใด แล้วจึงหาสัญลักษณ์ในตารางเลขหมู่ต่อไป
วิดีโอการสอน